6 วิธีแก้เด็กติดจอ
สมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น โดยเฉพาะพวกโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟท แท็บเล็ตต่าง ๆ ที่แทบจะเป็นอวัยวะอีกส่วนในร่างกายของเราไปแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกตัวช่วยให้พ่อแม่ยุคใหม่ใช้เป็นสื่อการสอนให้กับลูก ๆ ได้ แต่อะไรที่มากไปมันก็ไม่ดี หากไม่ระมัดระวัง ลูกอาจจะติดโทรศัพท์มือถือจนลืมสนใจสิ่งรอบข้าง เสี่ยงต่อพัฒนาการด้านการสื่อสาร เสี่ยงสมาธิสั้น แถมยังไม่ดีต่อดวงตาและสมองด้วย เหล่าผู้ปกครองจึงควรมีเทคนิค วิธีแก้เด็กติดจอ เพื่อดูแลไม่ให้ลูกติดหน้าจอมือถือมากจนเกินไป
อย่าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือคนเดียว
เวลาให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ อย่าคิดแต่จะให้ลูกเล่นเพื่อให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ หรือหยุดร้องไห้เท่านั้น ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแล และนั่งอยู่กับลูกเวลาเล่นด้วย คอยดูว่าเขาเล่นอะไร มีความเหมาะสมมั้ย อธิบายและให้คำแนะนำกับลูกระหว่างเล่นด้วยเสมอ จะได้เป็นการเสริมพัฒนาการและเรียนรู้ไปในตัว เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
หากิจกรรมอื่นทำร่วมกัน
นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ ถ้าหากลูกเริ่มติดจอมากจนเกินไปแล้ว ให้ลองหากิจกรรมอื่นทำร่วมกันในครอบครัว อาจจะไปเที่ยวข้างนอกบ้าน ไปออกกำลังกายด้วยกัน หรือลองสังเกตจากเกมที่ลูกเล่น แล้วหากิจกรรมที่ใกล้เคียงกับเกมมาเล่นกับลูกแทน เพื่อให้ลูกละสายตาจากหน้าจอ ออกมาสนใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
ให้เล่นได้ แต่อย่าให้เป็นเจ้าของ
การให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ควรให้ลูกเป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้นเด็ดขาด เพราะถ้าหากลูกเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นแล้ว เขามักจะโมโหเวลาพ่อแม่สั่งให้หยุดเล่น จนทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้งานของลูกได้เลย ดังนั้นพ่อแม่จะต้องแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านี้อยู่นะ เพียงแต่ให้ลูก ๆ ได้เล่นบ้างในบางเวลาเท่านั้น
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
สำหรับพ่อแม่ยุคดิจิทัลนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะวางโทรศัพท์มือถือไว้ห่างจากสายตา เพราะถ้าพูดตามตรงแล้ว โทรศัพท์มือถือก็เหมือนจะกลายมาเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของเราไปแล้ว ใช้ติดต่อสื่อสารหรือทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่หากต้องควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อย พ่อแม่ก็ควรจะต้องมีวินัยและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเสียก่อน นอกจากจะได้แสดงให้ลูกเห็นแล้ว การที่พ่อแม่วางโทรศัพท์มือถือลง ก็จะทำให้มีเวลาไปดูแลลูกมากขึ้นด้วย
กำหนดเวลาเล่นไม่เกินวันละ 2 ชม.
ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาเล่นโทรศัพท์ให้ชัดเจนไปเลย เพื่อเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกน้อยไปด้วย โดยปกติแล้วไม่ควรให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน ควรให้ได้แค่วันละ 1 ชั่วโมง และในวันหยุดอาจจะเพิ่มเป็นให้เล่นได้วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง
และหากลูกๆ ยังอายุไม่ถึงสองขวบ ยังไม่แนะนำให้ดูทีวี หรือว่าจอใดๆ รวมไปถึงการเปิดจอทีวีทิ้งไว้ ถึงแม้ไม่ได้ดูแต่เสียง Background noise ก็สามารถส่งผลต่อ สมาธิของเด็กๆ ได้เช่นกัน
กฎเป็นกฎ อย่าใจอ่อน
พ่อแม่บางคนอาจจะใจดี ตามใจลูก เวลาลูกแอบเล่นเกินเวลาที่กำหนดไว้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยนะ เมื่อหมดเวลาตามข้อตกลงแล้ว กฎก็ควรเป็นกฎ ไม่มีการขอต่อเวลา พ่อแม่ยุคดิจิทัลจะต้องใจแข็งนิดนึง ยึดตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก ถ้าไม่ทำตามก็ต้องมีทำโทษหรือยึดเครื่องคืนบ้าง ให้เขาเข้าใจว่าพ่อแม่เอาจริง ลูกอาจจะมีหงุดหงิดบ้าง แต่ถ้าเราหัดจนเป็นนิสัย ลูกก็จะมีระเบียบวินัยขึ้นเอง
....
ขอบคุณ ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก www.theasianparent.com
แล้วคุณพ่อคุณแม่ละครับ มีวิธีแก้ลูกๆ ติดจอกันในแบบของตัวเองได้อย่างไร แชร์เข้ามากันหน่อยนะครับ
อย่างตัวผมเองมีหลายครั้งที่เรา โปรดิวรายการทีวี ที่มีการไปเก็บภาพนอกสถานที่ บ่อยครั้งที่แวะไปถ่ายตามร้านอาหาร จะสังเกตได้ว่า หากในครอบครัว มีการพูดคุยกัน ไม่หยิบโทรศัพท์มือถือออกมาเล่นไลน์ ไม่กดเข้าเฟซ หาเรื่องพูด คุย และเล่นกันไปมา จะสามารถเสริมความอบอุ่น กับสนุกไปกับกิจกรรมบนโต๊ะ ก่อนอาหารจะมาได้ แต่หากคุณพ่อหรือคุณแม่หยิบมือถือขึ้นมาเช็ค อีกคนก็จะหยิบตาม และสุดท้าย ลูกก็จะต้องเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยการ ขอดู ขอใช้มือถือ และกลายเป็นไปจบที่ ต้องดูการ์ตูนไปตลอดการกินข้าว....
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า มาคุยกันนะครับ ....อาร์ม พิพัฒน์
Комментарии